ความแตกต่างระหว่าง Bitcoin, Blockchain, Ethereum, Ripple, Hyperledger

มาถึงวันนี้ ผมเชื่อว่าโลกของ FinTech น่าจะเริ่มคุ้นเคยกับชื่อ Bitcoin และ Blockchain กันมากขึ้นกว่าในอดีต คนที่พอเข้าใจแนวคิดของ Blockchain (อันแสนซับซ้อนและชวนให้งงงวย) ก็น่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ในโลกของ สกุลเงินดิจิทัล หรือที่เรียกตามศัพท์ภาษาอังกฤษว่า cryptocurrency ยังมีความซับซ้อนที่รอให้ค้นหาอีกมาก เพราะหลังจาก Bitcoin บูมขึ้นมา คนจำนวนมากก็นำแนวคิดของ Bitcoin มาพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในรูปแบบคล้าย ๆ กัน แต่ปรับเปลี่ยนรายละเอียดทางเทคนิคให้แตกต่างออกไป สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้มีเป็นร้อย ๆ และสตาร์ตอัพที่เข้ามาขุดทองในตลาดนี้ก็มีเยอะไม่แพ้กัน

แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานพอสมควร มาถึงปี 2017 เราก็เริ่มเห็นหน้าตาของ “ผู้ชนะ” ในโลกใหม่นี้กันแล้วครับ เพื่อให้การติดตามข้อมูลในโลกของ FinTech ง่ายขึ้น ไม่งงและสับสนเวลาเจอศัพท์แปลกๆ ผมขอใช้พื้นที่บทความนี้ คำอธิบายคำศัพท์หรือชื่อเฉพาะที่สำคัญ ว่าหมายถึงอะไรบ้าง

อย่างแรกสุดเลย ขออธิบายถึงแนวคิดที่สำคัญ 2 อย่างเพื่อให้คุณผู้อ่านแยกแยะระดับชั้นของเทคโนโลยีได้โดยง่าย เราจะพูดถึง ตัวสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) หมายถึง สกุลเงินเสมือน ที่ใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายเหมือนกับเป็นเงินจริงๆ และอย่างที่สองคือ เทคโนโลยีการประมวลผลธุรกรรมแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger) ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังสกุลเงินดิจิทัลอีกทีหนึ่ง

เมื่อเข้าใจแนวคิดนี้แล้วก็เริ่มเข้าเรื่องกันเลยครับ

Bitcoin/Blockchain

ชื่อเรียกสกุลเงิน : Bitcoin (ตัวย่อ BTC)
เทคโนโลยีเบื้องหลัง : Blockchain
องค์กรผู้รับผิดชอบ : Bitcoin Foundation
เว็บไซต์ : https://bitcoin.org
Bitcoin เป็นชื่อเรียก กุลเงินดิจิทัล สกุลแรกที่บูมขึ้นมา ส่วน Blockchain เป็นชื่อเรียก เทคโนโลยีที่ใช้ประมวลผล Bitcoin นั่นเอง ทั้งสองส่วนถูกคิดค้นโดยบุรุษปริศนา Satoshi Nakamoto ที่ทุกวันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าเขาคือใคร ตอนนี้ Nakamoto หายสาบสูญไปแล้ว งานพัฒนาซอฟต์แวร์ Bitcoin จึงไปอยู่กับองค์กรไม่หวังผลกำไร Bitcoin Foundation ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนอื่น ๆ ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา

ความแตกต่างระหว่าง Crypto Currency

แน่นอนว่าเมื่อ Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มาก่อนใคร ความนิยมใน Bitcoin จึงนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ทุกวันนี้มีการประเมินกันว่ามูลค่าของ Bitcoin ทั้งหมดในตลาดอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5 แสนล้านบาท)
เรื่องของตัว Bitcoin และ Blockchain มีคนเขียนถึงไปเยอะแล้ว บทความนี้จึงขอไม่ลงรายละเอียดของ Bitcoin/Blockchain นะครับ

Ethereum

ชื่อเรียกสกุลเงิน : Ether (ตัวย่อ ETH)
เทคโนโลยีเบื้องหลัง : Ethereum
องค์กรผู้รับผิดชอบ : Ethereum Foundation
เว็บไซต์ : https://www.ethereum.org
ความนิยมใน Bitcoin ส่งผลให้มีคนจำนวนมากสร้างสกุลเงินดิจิทัลลักษณะเดียวกันขึ้นมา และหนึ่งในนั้นคือ Ethereum ที่เริ่มพัฒนาโดย Vitalik Buterin เจ้าหนุ่มมหัศจรรย์ชาวรัสเซีย ที่ปัจจุบันมีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้นเอง (เขาเริ่มสร้าง Ethereum ในปี 2013 ซึ่งตอนนั้นอายุยังไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำ)

ความแตกต่างระหว่าง Crypto Currency
Vitalik เป็นหนึ่งในนักพัฒนา Bitcoin มาก่อน แต่ก็เห็นข้อบกพร่องและข้อจำกัดของ Bitcoin ทำให้เขาหันมาเริ่มสร้าง Ethereum ขึ้นมาใช้แทน ปัจจุบัน Ethereum เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ดูแลโดยหน่วยงานไม่หวังผลกำไร Ethereum Foundation ในสวิตเซอร์แลนด์

ความสามารถของ Ethereum ถือว่าทัดเทียมกับ Bitcoin ต้นฉบับ แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือฟีเจอร์ที่เรียกว่า Smart Contracts ที่อนุญาตให้เราสามารถเขียนโปรแกรมลงไปในข้อมูลของสกุลเงิน Ether ให้ทำงานอัตโนมัติเมื่อเจอเงื่อนไขที่กำหนด ความสามารถนี้ทำให้เราสามารถสร้างแอพพลิเคชันต่าง ๆ ขึ้นมาบนเครือข่าย Ethereum อีกชั้นหนึ่ง ช่วยให้พลิกแพลงรูปแบบการใช้งานได้มหาศาล ต่างจาก Bitcoin ที่เน้นการทำธุรกรรมเพียงอย่างเดียว (ไว้มีโอกาสแล้วผมจะเขียนถึงเรื่อง Smart Contracts โดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง)

ความแตกต่างระหว่าง Crypto Currency
ตอนนี้ Ethereum ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา สถานะยังอยู่ในเวอร์ชันที่สองจากแผนการที่วางไว้ทั้งหมดสี่เวอร์ชันจึงจะสมบูรณ์ แต่ความนิยมของ Ethereum ก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ตอนนี้มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับสองรองจาก Bitcoin ที่ขนาดประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์

Ripple

ชื่อเรียกสกุลเงิน : Ripple (XRP)
เทคโนโลยีเบื้องหลัง : Ripple Transaction Protocol (RTXP)
องค์กรผู้รับผิดชอบ : Ripple
เว็บไซต์ : https://ripple.com
Ripple เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของเทคโนโลยีสกุลเงินเสมือน-การประมวลผลแบบกระจายศูนย์อีกค่ายหนึ่ง เวลาพูดถึงชื่อ Ripple ก็จะชวนสับสนไม่น้อย เพราะชื่อบริษัท ชื่อเทคโนโลยี ชื่อสกุลเงิน ใช้คำว่า Ripple เหมือนกันหมด ดังนั้นต้องแยกแยะให้ดีว่าตอนพูดหมายถึงอะไรกันแน่
บริษัท Ripple ก่อตั้งในปี 2013 โดยนักพัฒนาอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการสร้างระบบที่ดีกว่า Bitcoin (เดิมทีใช้ชื่อว่า OpenCoin) ตัวระบบของ Ripple จะแตกต่างจากระบบของ Bitcoin และ Ethereum ที่เป็นระบบเปิด เปิดกว้างให้ใครก็ได้ที่สนใจเข้ามาทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนสกุลเงินระหว่างกัน แต่ระบบของ Ripple เป็นระบบปิดที่ควบคุมโดย Ripple แต่เพียงผู้เดียว (ตัวซอฟต์แวร์เป็นโอเพนซอร์ส แต่ตัวเครือข่ายประมวลผลควบคุมโดย Ripple)
ทำความรู้จักกับ Ripple
ข้อดีของระบบปิดคือตรวจสอบตัวตนของผู้เข้าร่วมได้ง่ายกว่า มีความปลอดภัยสูงกว่า ประมวลผลได้เร็วกว่า (เพราะเสียเวลาตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลน้อยกว่า) จุดเด่นของ Ripple จึงเหมาะสำหรับการใช้งานระหว่างองค์กรใหญ่ๆ เช่น สถาบันการเงินหรือธนาคาร
ปัจจุบัน ตลาดแลกเปลี่ยน Ripple มีมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ ถือว่าใหญ่เป็นอันดับสามรองจาก Bitcoin และ Ethereum อยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Ripple หันไปเจาะตลาดสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ที่ตื่นตัวกับเทคโนโลยี distributed ledger และต้องการเทคโนโลยีแบบเดียวกับ Blockchain แต่เอาไว้ใช้งานกันเองในเครือข่ายปิดแทน ซึ่งถือว่าทำได้ค่อนข้างดี และมีธนาคารยักษ์ใหญ่ทั่วโลกเข้าร่วมกับ Ripple มากมาย ในประเทศไทยก็มีธนาคารไทยพาณิชย์ที่เข้าร่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและกำลังอยู่ในช่วงของการทดสอบเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศภายใต้ระบบนี้อยู่
อ่านเรื่อง Ripple ต่อได้ที่นี่

Hyperledger

ชื่อเรียกสกุลเงิน : ไม่มี
เทคโนโลยีเบื้องหลัง : มีหลายอย่าง แยกตามโครงการย่อยของแต่ละบริษัท
องค์กรผู้รับผิดชอบ : Linux Foundation
เว็บไซต์ : https://www.hyperledger.org
นอกจาก 3 ค่ายข้างต้นที่มีระบบสกุลเงินของตัวเองแล้ว อีกชื่อที่เราได้ยินกันบ่อยในช่วงหลังคือ Hyperledger

Hyperledger เป็นเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger) ลักษณะเดียวกับ Blockchain แต่พัฒนาโดยบริษัทไอทียักษ์ใหญ่หลายราย

ความแตกต่างระหว่าง Crypto Currency
Hyperledger เกิดจากความต้องการของฝั่งโลกไอทีองค์กร เช่น IBM, Intel ที่เห็นประโยชน์ของการประมวลผลแบบ blockchain ที่ใช้ใน Bitcoin แต่ไม่ต้องการนำมาใช้ประมวลผลธุรกรรมการเงินแบบ Bitcoin จึงหันมาพัฒนาซอฟต์แวร์กันเอง แต่แยกกันทำก็ซ้ำซ้อนเปลืองทรัพยากร หลายบริษัทจึงนำซอฟต์แวร์มากองรวมกันไว้ที่โครงการ Hyperledger แทน แล้วให้องค์กรไม่หวังผลกำไร Linux Foundation เป็นคนกลางคอยดูแล

Hyperledger ต่างไปจากระบบทั้ง 3 ค่ายตรงที่ไม่มีสกุลเงินเป็นของตัวเอง เพราะ Hyperledger เป็นแค่ “ซอฟต์แวร์” ที่ทำงานประมวลผลเท่านั้น การใช้งานต้องขึ้นกับองค์กรแต่ละแห่งที่นำซอฟต์แวร์ Hyperledger ไปใช้งานต่ออีกทอดหนึ่ง เช่น ธนาคารบางแห่งอาจนำซอฟต์แวร์ Hyperledger ไปใช้ประมวลผลข้อมูลภายในบนเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องยุ่งกับหน่วยงานภายนอกเลย เป็นต้น

ต้นฉบับ
ความแตกต่างระหว่าง Bitcoin, Blockchain, Ethereum, Ripple, Hyperledger ความแตกต่างระหว่าง Bitcoin, Blockchain, Ethereum, Ripple, Hyperledger Reviewed by SuPerGuRuMan on September 22, 2017 Rating: 5

No comments:

Apple Event - May 7

Powered by Blogger.